ชื่อสมุนไพร : มะอึก
ชื่ออื่นๆ : มะเขือปู่, มะเขือขน, หมากขน, หมากอึก, หมักอึก, บักเอิก, อึก, ลูกอึก, ยั่งคุยดี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum stramonifolium Jacq.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมะอึก เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ทุกส่วนมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม
- ใบมะอึก เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กว้าง กว้าง 15-25 ซม. ยาว 20-30 ซม. โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู แผ่นใบสีเขียว มีขนทั้งสองด้าน
- ดอกมะอึก ออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแหลม เกสรเพศผู้สีเหลือง เป็นเส้นรวมเป็นยอดแหลม
- ผลมะอึก รูปทรงกลม ขนาด 1.8-2 ซม. ผิวมีขนยาวหนาแน่น ผลสุกสีเหลืองแกมน้ำตาล เมล็ดแบน มีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, ใบ, ดอก, ราก, เมล็ด
สรรพคุณ มะอึก :
- ราก มีรสเปรี้ยวเย็น ดับพิษร้อนใน กระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด (อาการไข้ที่ออกตุ่ม ออกผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หัด อีสุกอีใส) กัดฟอกเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้น้ำดีพิการ แก้ดีฝ่อ แก้ปวด แก้ไข้ แก้ไข้สันนิบาต
- ใบ มีรสเย็น ตำพอก แก้ฝี แก้ปอดบวม ผื่นคัน
- ดอก มีรสเย็น ตำพอกหรือทาแก้ผิวหนัง
- ผล มีรสเย็นเปรี้ยว แก้ดีพิการ แก้ไอ ฟอกขับเสมหะ
- เมล็ด สุมไฟสูดควัน แก้ปวดฟัน