ชื่อสมุนไพร : มะพร้าว,
ชื่ออื่น ๆ : หมากอูน, หมากอู๋น, มะพร้าว(ทั่วไป), คอส่า(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะพร้าว(ภาคใต้), ดุง(ชอง-จันทบุรี), ย่อ(มลายู-ภาคใต้), โพล(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เฮ็ดดุง(เพชรบูรณ์), เอี่ยจี้(จีน)
ชื่อสามัญ : Coconut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera Linn.
ชื่อวงศ์ : PALMAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมะพร้าว เป็นพรรณไม้ยืนต้น ที่มีลำต้นสูงชะลูด จะไม่แตกกิ่งก้านสาขา ขนาดของลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร
- ใบมะพร้าว ลักษณะของใบออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันเป็นรูปขนนก ใบรวมก้านหนึ่งยาวประมาณ 3-7 เมตร กว้างประมาณ 1-1.4 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นแผ่นแคบยาว ปลายใบแหลม พื้นผิวเรียบเป็นมัน มีสีเขียวแก่ ขนาดของใบยาวประมาณ 2-3 ฟุต กว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว
- ดอกมะพร้าว ดอกออกเป็นช่อ ออกตามบริเวณกาบที่หุ้ม ดอกย่อยมีลักษณะ เป็นดอกขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ในช่อหนึ่ง ๆ มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย ดอกตัวผู้จะอยู่ปลาย และดอกตัวเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อดอก
- ผลมะพร้าว ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือรูปรี มีขนาดยาวประมาณ 8-14 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 8-9.5 นิ้ว เปลือกนอกเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่ก็จะสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในจะแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลมีสีขาวนุ่ม และภายในมีน้ำใสมีรสจืด หรือบางทีก็จะมีรสหวาน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, เปลือกผล, เนื้อผล, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมัน, กะลา, ดอก, ราก
สรรพคุณ มะพร้าว :
- เปลือกต้น ใช้เปลือกต้นที่สด นำมาเผาไฟให้เป็นเถ้าแปรงสีฟัน แก้เจ็บปวดฟัน และใช้ทาแก้หิด
- เปลือกผล ใช้เปลือกผลที่แก่แห้งแล้ว นำมาเป็นยาแก้อาเจียน แก้โรคกระเพาะ และใช้ในการห้ามเลือดแก้ปวดเลือดกำเดาไหล
- เนื้อ ใช้เนื้อมะพร้าวสด หรือแห้ง นำมาขูดให้เป็นฝอยใส่น้ำ แล้วเคี่ยวเอาน้ำมัน ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ
- น้ำมันมะพร้าว ใช้น้ำมะพร้าวสดประมาณ 1-2 ลูก กินเป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้กระหายน้ำ แก้นิ่ว แก้อาเจียนเป็นโลหิต และบวมน้ำ
- น้ำมันที่ได้จากเนื้อ หรือจากกะลา ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง หรือใช้ทาเป็นยาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ ทาแผลน้ำร้อนลวก และใช้ทาผิวหนังที่แตกเป็นขุย นอกจากนี้ยังใช้เป็นน้ำมันทาผมได้อีกด้วย
- กะลา ใช้กะลามะพร้าวแห้ง นำมาเผาให้เป็นถ่านดำแล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด ผสมน้ำกินวันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 0.5-1 ช้อนชา กินเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ปวดกระดูกและเอ็น
- ดอก ใช้ดอกสดอ่อน นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้เจ็บปากเจ็บคอ แก้ท้องเสีย
- ราก ใช้รากสด นำมาต้มกินเป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรือเอาน้ำอมหรือบ้วน แก้เจ็บปากเจ็บคอ