พังแหรใหญ่

ชื่อสมุนไพร : พังแหรใหญ่
ชื่ออื่นๆ :
ขางปอยป่า, ตะคาย, ปะดัง, ตายไม่ทันเฒ่า, พังแหร, ปอแฟน, ปอหู, ปอแหก, ปอแฮก, พังแกรใหญ่, พังอีแร้, พังอีแหร, กีกะบะซา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trema orientalis (L.) Bl.
ชื่อวงศ์ : ULMACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพังแหรใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 4-12 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีเทา เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม เปลือกต้นสีเขียวอมเทาอ่อนหรือน้ำตาล ผิวบางเรียบเกลี้ยงหรือมีรอยแตกตามยาวบางๆ มีรูอากาศมาก เปลือกชั้นในสีเขียวสด
  • ใบพังแหรใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบไม่สมมาตร ขอบใบจักแบบฟันเลื่อยละเอียด ยอดอ่อนมีขนสีเงินหนาแน่น ผิวใบสากคาย ใบแก่ด้านบนมีขนหยาบประปราย ด้านล่างสีเขียวอมเทาเป็นหย่อมแน่นๆ ปะปนกับขนสีเงินที่ยาวกว่า เส้นใบออกจากฐานใบ 3-5 เส้น ทอด ½-3/4 ตามความยาวของใบ เส้นใบข้างโค้งมาก 4-8 คู่ ก้านใบยาว 0.4-1.7 ซม. มีร่องและมีขนหนาแน่น มักจะมีประสีชมพูหรือม่วง หูใบรูปหอก ขนาด 2.6 มม. ไม่เชื่อมกัน
  • ดอกพังแหรใหญ่ สีขาวอมเขียว ขนาดเล็กออกเป็นช่อสั้นๆ เป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ขนาดพังแหรใหญ่ดอก 0.3 ซม. ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกช่อ ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่า 20 ดอก ช่อดอกเพศเมียมีดอกประมาณ 15-20 ดอก ดอกย่อยมีกลีบรวม 5 กลีบ มีขน ดอกตัวผู้ช่อแน่นและแตกแขนงยาวถึง 2.5 ซม. ดอกมักเป็นคู่ มีก้านของช่อข้างล่างโค้งลง ชั้นกลีบเลี้ยงแยก 4-5 พู ขนาด 1.5 มม. ไม่ซ้อนกัน เกสรตัวผู้ 4-5 อัน อยู่ตรงข้ามกับพูกลีบเลี้ยง ดอกตัวเมียคล้ายกันแต่ช่อโปร่งกว่า มีเกสรตัวเมียแยก 2 กิ่ง รังไข่ไม่มีก้านชู
  • ผลพังแหรใหญ่ ผลสดลักษณะกลม แข็ง ขนาด 3-4 มิลลิเมตร ก้านผลยาว 0.3 ซม. ผลสีเขียวเข้มเมื่อสุกมีสีดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงติดที่ฐานและปลายเกสรตัวเมียติดที่ยอดผล เนื้อภายในบาง ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง มีเมล็ดเดียว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, แก่น, ราก

สรรพคุณ พังแหรใหญ่ :

  • เปลือกต้น  เคี้ยวแล้วอมไว้นาน 30 นาที ช่วยรักษาอาการปากเปื่อย
  • แก่น,ราก เป็นยาเย็น ฝนกับน้ำกิน ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ
Scroll to top