ชื่อสมุนไพร : พริกขี้หนู
ชื่ออื่น ๆ : พริกแด้, พริกแต้, พริกนก, พริกแจว, พริกน้ำเมี่ยง(เหนือ-พายัพ), พริก, พริกชี้ฟ้า,พริกขี้หนู(ภาคกลาง-เหนือ), ดีปลี (ใต้-ปัตตานี), ดีปลีขี้นก, พริกขี้นก, ใต้(ภาคใต้), ลัวะเจีย(แต้จิ๋ว), มะระตี้(สุรินทร์), ล่าเจียว(จีนกลาง), หมักเพ็ด(อีสาน)
ชื่อสามัญ : Bird Chilli
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum frutescens Linn.
ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นพริกขี้หนู เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 1-3 ปี แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- ใบพริกขี้หนู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวมันวาว ก้านใบยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร
- ดอกพริกขี้หนู จะออกตรงง่ามใบเป็นกลุ่มประมาณ 1-3 ดอก เป็นสีขาว มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ ส่วนเกสรตัวผู้จะมีอยู่ 5 อัน จะขึ้นสลับกบกลีบดอก เกสรตัวเมียมี 1 อันและมีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้อง
- ผลพริกขี้หนู ผลมีลักษณะยาวรี ปลายผลแหลม ออกในลักษณะหัวลิ่มลง ขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงหรือเป็นสีแดงปนสีน้ำตาล ลักษณะของผลมีผิวลื่น ภายในผลกลวงและมีแกนกลาง รอบ ๆ แกนจะมีเมล็ดเป็นสีเหลืองเกาะอยู่มาก เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนและมีรสเผ็ด เมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล
สรรพคุณ พริกขี้หนู :
- ผล ใช้ปรุงรสอาหาร ช่วยเจริญอาหาร และรักษาอาการอาเจียน รักษาโรคหิด กลาก รักษาโรคบิด โดยการใช้พริกสด 1 เม็ด หรือมากกว่านั้นใช้กิน และอาการปวดบวมเนื่องจากความเย็นจัด โดยใช้ผงพริกแห้งทำเป็นขี้ผึ้ง หรือสารละลาย แอลกอฮอล์ใช้ทา บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ