ชื่อสมุนไพร : เหียง
ชื่ออื่นๆ : สะแบง (อุตรดิตถ์ ตะวันออกเฉียงเหนือ), ตะแบง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), เหียงพลวง, ตาด (พล จันทบุรี), ซาด (ชัยภูมิ), เหียงพลวง, เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์), เห่ง (น่าน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus obtusifolius Teijsm.ex Miq.
ชื่อวงศ์ : Dipterocarpaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเหียง ไม้ต้นขนาดกลางสูง 8-30 เมตร ผลัดใบ เปลือกหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนา และเป็นร่องลึก ตามยาว เนื้อไม้สีแดงอ่อนถึงน้ำตาลปนแดง เรือนยอดเล็กสีบรอนส์ออกสีเขียว กิ่งอ่อนและใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปไข่ ขนาดใหญ่ กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว13-25 เซนติเมตร ปลายมน โคนมนหรือหยักเว้าตื้น ฐานเป็นรูปหัวใจ
- ใบเหียง ใบอ่อนมีขนยาวแหลม ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีขน แต่น้อย ใบด้านบนเขียวเข้ม มีขนบนเส้นใบ และขอบใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาล ด้านล่างสีบรอนส์ออกสีเขียว มีขนเป็นรูปดาวบนเส้นใบ และขนสีขาวยาวกว่าด้านบน เส้นใบข้าง 10-18 คู่ มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น พื้นใบจีบเป็นร่องระหว่างเส้นแขนงใบ ขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่นตามเส้นใบ เส้นใบเป็นสันเด่นชัดด้านท้องใบ ใบอ่อนพับจีบชัดเจนตามแนวเส้นแขนงใบ มีหูใบหุ้มยอดอ่อน หูใบรูปแถบกว้าง ปลายมน ผิวด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม หูใบยาว 7-12 เซนติเมตร สีชมพูสด
- ดอกเหียง ออกรวมเป็นช่อเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลุ่มละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 3.5-5 เซนติเมตร แกนก้านรูปซิกแซก ก้านช่อดอกยาว 2-5 เซนติเมตร และมีขนหนาแน่น ก้านดอกย่อยมีตั้งแต่สั้นมากจนยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพูสด กลีบดอกรูปกรวย โคนกลีบชิดกันปลายบิดเวียนเป็นรูปกังหัน เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 4-5 เซนติเมตร ขนาดกลีบ กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 4.8-5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีขนสั้นรูปดาวปกคลุม เกสรตัวผู้มีประมาณ 30 อัน อัดแน่นรอบรังไข่ อับเรณูรูปหัวลูกศร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด กลีบเลี้ยงขนาด 1.4 เซนติเมตร มี 5 กลีบ มีขนหนาแน่น ใบประดับที่ก้านดอกย่อยรูปใบหอกหรือรูปแถบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติกันเป็นรูปถ้วย ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีสองขนาด แฉกยาว 2 แฉก กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร แฉกสั้น 3 แฉก กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร
- ผลเหียง ผลแห้งแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลกลม แข็ง เกลี้ยง ไม่มีสันหรือปุ่มด้านบน เมื่ออ่อนมีขนปกคลุม เมื่อแก่เรียบเกลี้ยง ผลแก่สีน้ำตาลเป็นมัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยงมี 5 ปีก ปีกยาวรูปขอบขนาน 2 ปีก กว้าง 2.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวปีก 1 เส้น เส้นย่อยสานเป็นร่างแห อีก 3 ปีกเล็ก มีขนาดยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีหยักลึก ปีกอ่อนสีแดงสด มีเมล็ด 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ยาง, เปลือกต้น
สรรพคุณ เหียง :
- ใบ รสฝาด ต้มน้ำผสมน้ำเกลือ อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน
- ใบและยาง รสฝาดร้อน กินเป็นยาตัดลูก (ทำให้ไม่มีบุตร) น้ำมันยาง สมานแผล แก้หนอง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาว
- ยาง รสร้อน สมานแผล แก้หนอง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาว น้ำมัน ใช้ทาแผลภายนอก
- เปลือกต้น ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย